บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ธรรมชาติของพระไตรปิฎก



บทความชุดนี้ ครั้งเมื่อผมเขียนลงครั้งแรกที่ gotoknow ผมใช้ชื่อว่า สติปัฏฐาน 4 ไม่เป็นวิปัสสนาก็มีผู้เข้ามาอ่าน มาถกเถียงกันมากพอสมควร

แล้วผมก็ถูก gotoknow บล็อกไม่ให้เข้าไปเขียน  ผมก็เลยทิ้ง gotoknow บ้าง มีหลักฐานหลงเหลือเป็นไฟล์เอกสารอยู่บ้าง ผมก็จึงนำมาเขียนที่นี่

ตอนนี้ gotoknow อนุญาตให้เข้าไปเขียนได้อีก ผมจึงกลับไปเอาความเห็นที่ได้ถกเถียงกันมา มาวิพากษ์วิจารณ์อีกทีหนึ่ง เพื่อเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์

คุณปริญญา [IP: 58.9.151.245] 02 พฤศจิกายน 2552 16:40 เป็นคนเข้ามาถามเป็นคนแรก ดังนี้

ขอถามเพิ่มเติม หากจะขยายข้อความให้ชัดเจน จะขอบคุณมาก

1. ความเข้าใจผิดดังกล่าวนั้น เกิดจาก ความเชื่อครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวพม่า อย่างไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง เชื่อไปทั้งๆ ที่คำสอนของพระภิกษุชาวพม่านั้น ขัดกับคัมภีร์วิสุทธิมรรคและขัดกับพระไตรปิฎกอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน

2. พูดง่ายๆ ก็คือ เชื่อพม่า แต่ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เพราะ คำสอนของพม่าดังกล่าวนั้น ขัดกับคัมภีร์วิสุทธิมรรคและขัดกับพระไตรปิฎก

อยากทราบว่าขัดอย่างไร คัมภีร์ และพระไตรปิฏก สอนไว้อย่างไร ขอชัดๆ

เมื่อคนถามดีๆ ผมก็พยายามตอบดีๆ ได้เหมือนกัน ดังนี้ (03 พฤศจิกายน 2552 18:42)

ก่อนที่จะตอบข้อคำถามของคุณปริญญาผมขออธิบายความรู้ที่เกี่ยวกับคำตอบที่จะตอบต่อไปเสียก่อน ดังนี้

1) ธรรมชาติของพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกนั้น มีลักษณะแตกต่างจากองค์ความรู้ของโลกวิชาการปัจจุบัน ขอเปรียบเทียบกับงานวิจัยก็แล้วกัน

งานวิจัยนั้น ผู้ทำวิจัยต้องการหาความจริง (truth) บางประการ และต้องการหาความจริงที่เป็นสากล (general truth) เพื่อนำความจริง (truth) นั้น ไปใช้กับที่อื่นด้วย

งานวิจัยถ้ามี 5 บท (งานวิจัยบางเรื่องอาจจะมีมากกว่า 5 บทก็ได้) บทที่ 4 ก็จะเป็นความจริง (truth) ที่นักวิจัยค้นหามาได้ แต่บทที่ 4 นั้น จะเป็นความจริงเฉพาะที่ คือ ที่ที่นักวิจัยลงไปเก็บข้อมูล

นักวิจัยจะต้องสรุปรวบยอดความจริง (truth) ที่ได้จากบทที่ 4 ให้เป็นสากล (general) คือ เหลือเป็นบทที่ 5 ประมาณ 1-3 หน้า ถ้าเป็นงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ ในกรณีที่เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็น้อยกว่านั้น

จากความจริง (truth) ในบทที่ 5 นั้น นักวิจัยจะต้องสรุปรวบยอดให้เป็นบทคัดย่อ (abstract) อีกครั้งหนึ่ง

บทคัดย่อ (abstract) ของงานวิจัยนี้แหละคือ ความจริงสากล (general truth) ที่สามารถนำความรู้นี้ไปใช้กับที่อื่นได้

สำหรับพระไตรปิฎกนั้น เป็นการบันทึกข้อมูลข้อเท็จจริง (fact) ที่พระพุทธเจ้าไปสอนที่ใดที่หนึ่ง

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น เป็นความจริง (truth) แล้ว แต่ไม่ได้เป็นความจริงสากล (general truth) ในลักษณะเช่นเดียวกับงานวิจัย

การจะนำความรู้ที่ได้จากพระสูตรหนึ่ง ไปวิเคราะห์วิจารณ์องค์ความรู้ของศาสนาในพระสูตรอื่นๆ ต้องพิจารณาให้ดีว่า ทำได้หรือไม่?

กล่าวให้ชัดเจนก็คือ ทำน่ะทำได้ แต่ความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์วิจารณ์ จะเป็นความรู้ที่ผิดเพี้ยน ไม่ถูกต้อง




2) คัมภีร์วิสุทธิมรรคกับคัมภีร์วิมุตติมรรค

พระพม่านั้นอ้างถึงแต่คัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่จากการศึกษาของนักวิชาการท่านเห็นว่า ยังมีอีกคัมภีร์หนึ่ง ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันมาก ก็คือ คัมภีร์วิมุตติมรรค

การเหมือนกันของทั้งสองคัมภีร์นั้น ไม่น่าจะเหมือนกันโดยบังเอิญ ไม่ใครก็ใครท่านใดท่านหนึ่งระหว่าง พระอุปติสสะผู้แต่งคัมภีร์วิมุตติมรรค และพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็ต้องลอกเลียนแบบงานของอีกคนหนึ่ง

นักวิชาการในเมืองไทยส่วนหนึ่ง ลงความเห็นว่า คัมภีร์วิสุทธิมรรคน่าจะแต่งขึ้นภายหลัง [การลอกเลียนแบบในสมัยนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดดังเช่นการลอกเลียนงานวิชาการอย่างเช่นปัจจุบันนี้ เพราะ เป็นการทำเพื่อศาสนา ไม่ได้เป็นการค้าขาย]

ทำไมจะต้องมีคัมภีร์วิมุตติมรรคและคัมภีร์วิสุทธิมรรค?

พิจารณาจากเนื้อหาของทั้งสองคัมภีร์แล้ว พบว่า มีการถกเถียงกันในเนื้อความของพระไตรปิฎก ท่านผู้แต่งจึงพยายามจัดเนื้อหาของพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ขึ้น

ถ้าจะเปรียบเทียบกับเอกสารในยุคปัจจุบันก็น่าจะเป็น สรุปย่อเนื้อความของพระไตรปิฎก

สันนิษฐานอีกนิดหนึ่งโดยผมเอง ผมว่า ทั้งผู้เขียนคัมภีร์วิมุตติมรรคและคัมภีร์วิสุทธิมรรคไม่ได้เป็นพระปฏิบัติ แต่เป็นพระปริยัติ เป็นนักวิชาการของศาสนาพุทธในยุคแรกๆ ก็ว่าได้

3) การปฏิบัติธรรมแบบสายยุบหนอพองหนอ

การปฏิบัติธรรมแบบนี้ พระมหาสีสะยาดอว์ (The venerable Mahasi Sayadaw) ท่านคิดขึ้นมาได้ อาจจะเกิดจากแรงบันดาลใจของสติปัฏฐานสูตรก็เป็นได้ เพราะ พระพม่านั้น นิยมท่องพระสูตรนี้

พระมหาสีสะยาดอว์ ท่านก็คิดได้แค่นั้น คือ พิจารณาลมหายใจ โดยให้รู้สึกถึงการหายใจของตนเองจากการเคลื่อนไหวของท้อง

ต่อจากนั้นมา ก็พิจารณาอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยในการปฏิบัติตามชีวิตประจำวัน และพิจารณาพระไตรลักษณ์ของตนเอง

ตอนที่พระมหาสีสะยาดอว์เริ่มสอนการปฏิบัติธรรมแบบท่านออกไป วงการสงฆ์ของพม่าก็โจมตีท่านว่า นอกคอก ไม่ใช่เถรวาท

สมเด็จพระพุฒาจารย์/พระพิมลธรรม (อาสภมหาเถร) อาจารย์ของพระมหาโชดก ที่ส่งพระมหาโชดกไปเรียนที่พม่า ก็โดนคดีนี้เช่นเดียวกัน (โดนคดีอื่นๆ ด้วย แต่น่าจะถูกกลั่นแกล้งจากรัฐบาลในยุคนั้น)

สมเด็จพระพุฒาจารย์/พระพิมลธรรม (อาสภมหาเถร) รอดมาได้ เพราะ คำรับรองของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ที่รับรองว่า การปฏิบัติธรรมแบบสายพอง-ยุบ ถูกต้องร่องรอยของสติปัฏฐาน 4

[ข้อความตรงนั้น ที่สาวกของพระพม่าชอบนำมาโจมตีว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำเลิกสอนวิชาธรรมกายแล้วนั่นแหละ ไม่รู้ถึงบุญคุณของหลวงพ่อวัดปากน้ำบ้างเลย]

พระมหาสีสะยาดอว์ เห็นว่า การปฏิบัติธรรมที่ท่านพัฒนาขึ้นมาได้นั้นเป็นสติปัฏฐาน 4 ซึ่งผมก็เห็นว่า ถูกต้อง แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน 4 ทั้งหมด เป็นเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของหัวข้อ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น

อย่าลืมว่า สติปัฏฐาน 4 นั้น มีอีก 3 หัวข้อธรรมะ คือ
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน [พิจารณาเห็น/ตามเห็นเวทนาในเวทนาอยู่]
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน [พิจารณาเห็น/ตามเห็นจิตในจิตอยู่]
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน [พิจารณาเห็น/ตามเห็นธรรมในธรรมอยู่]

โดยสรุป
การปฏิบัติธรรมแบบสายพอง-ยุบของพระมหาสีสะยาดอว์ก็มีดังนี้ คือ มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของท้อง [ซึ่งน่าจะเป็นการดัดแปลงมาจากอาณาปานัสสติจากการพิจารณาลมที่ปลายจมูก]

มีสัมปชัญญะในอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยในการปฏิบัติตามชีวิตประจำวัน และพิจารณาพระไตรลักษณ์ของตนเองไปด้วย

วิเคราะห์ต่อไป

ต้องขอบอกว่าตรงนี้เป็นการสันนิษฐานของผมเอง เมื่อพระมหาสีสะยาดอว์คิดแนวทางการปฏิบัติธรรมขึ้นมาได้ใหม่ และลองเผยแพร่ออกไป และมีคนเชื่อถือมาก อย่างที่ท่านเองคงไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้น คือ เพิ่งคิดทฤษฏีได้เบื้องต้น ยังไม่ตกผลึก ก็ดังเสียแล้ว

พอดังขึ้นมาแล้ว ตรงนี้ห้ามไม่อยู่แล้ว ใครๆ ก็อาจจะมาช่วยตีความ หรือท่านเองก็มัวแต่เผยแพร่คำสอน ไม่ได้ต่อยอดทฤษฎีของท่านอีกเลย จนกระทั่งมรณภาพไป

การตีความจึงเตลิดเปิดเปิง ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปหมด [ลักษณะเช่นนี้ มีกรณีตัวอย่างในเมืองไทยให้ศึกษาได้ เช่น กรณีของคุณสมพงษ์ เลือดทหารที่หลอกลวงคนไปทั้งประเทศ ทั้งที่ตอนเริ่มต้นนั้น ทำเล่นๆ เพียงแค่สนุกเท่านั้น]

เนื่องจาก พระพม่าคุ้นเคยดีกับ คัมภีร์วิสุทธิมรรคอยู่บ้าง ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นมีเรื่อง ญาณ  16  อยู่ด้วย และมีการแบ่งแยกระหว่างสถมกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน

นอกจากนั้น แล้วเมื่อศึกษาพระอภิธรรม ในพระอภิธรรมก็มีสติปัฏฐานสูตร และในตอนท้ายของสติปัฏฐาน 4 มีข้อความดังนี้

ผลแห่งการเจริญสติปัฏฐาน
[151] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ ตลอด 7 ปี เขาพึงหวังผล 2 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีขันธบัญจกเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี

7 ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ ตลอด 6 ปี 5 ปี 4 ปี 3 ปี 2 ปี 1 ปี ...

1 ปี ยกไว้. ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ ตลอด 7 เดือน เขาพึงหวังผล 2 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อขันธบัญจกมีเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี

7 เดือน ยกไว้ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ ตลอด 6 เดือน 5 เดือน 4 เดือน 3 เดือน 2 เดือน 1 เดือน กึ่งเดือน ...

กึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้  ตลอด 7 วัน เขาพึงหวังผล 2 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อขันธปัญจกยังเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี.

พระมหาสีสะยาดอว์หรือสานุศิษย์ก็จึงจับแพะชนแกะ ได้ข้อสรุปอย่างลงแต่ผิดพลาดว่า การปฏิบัติธรรมที่ท่านคิดได้นั้น เป็นสติปัฏฐานสูตร เป็นวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อปฏิบัติแล้ว ก็จะได้ญาณ  16 และสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ภายใน  7 ปี  7 เดือน  7 วัน

กลับมาถึงคำถามของคุณปริญญา คำถามทั้ง 2 ข้อนั้น ผมขอตอบรวมกันไปได้เลย ดังนี้

คำตอบ
ในการตอบคำถามข้อนี้ ขอยกตัวอย่างคำสอนของพระมหาโชดกเป็นตัวอย่างนะครับ

1) ในหนังสือคำสอนการปฏิบัติธรรมของพระมหาโชดกนั้น ไม่มีการปฏิบัติสมถกรรมฐานเลย การปฏิบัติสมถกรรมฐานของท่าน ก็คือ นึกถึงความตาย แล้วก็ลงมือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไปเลย

ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า พระมหาโชดกไม่เคยกล่าวถึงสมถกรรมฐานนะครับ แต่ท่านเห็นว่า สมถกรรมฐานนั้น ข้ามไปเลยก็ได้ ไม่ต้องปฏิบัติเลยก็ได้ เริ่มลงมือที่วิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ ไปเลย

ตรงนี้ขัดกับวิสุทธิมรรคอย่างไร?

คัมภีร์วิสุทธิมรรคถึงแม้จะมีการแบ่งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานออกจากกัน ว่าปฏิบัติอย่างไร คือ สมถกรรมฐาน และปฏิบัติอย่างไรคือ วิปัสสนากรรมฐาน แต่พระพุทธฆาจารย์ท่านไม่ได้รังเกียจสมถกรรมฐานนะครับ

ท่านบอกว่า ต้องปฏิบัติสมถกรรมฐานให้ได้อย่างน้อย ฌาน 4 เป็นต้นไป

ตรงนี้ขัดกับพระไตรปิฎกอย่างไร?

พระพุทธองค์ไม่เคยตรัสแยกสมถกรรมฐานออกจากวิปัสสนากรรมฐานเลย ทรงตรัสคู่กันไปเสมอ

2) เอกสารของสายพอง-ยุบ อ่านไปให้มากแล้วจะมีผลสรุปเหมือนๆ กัน คือ ปฏิบัติธรรมแค่หัวข้อใดหัวข้อหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

โดยมากก็เน้นไปที่อิริยาบถใหญ่กับอิริยาบถย่อย แล้วพิจารณาให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ก็จะได้ญาณ 16 และสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้เลย
ตรงนี้ขัดกับวิสุทธิมรรคอย่างไร?

ในวิสุทธิมรรคนั้น การจะได้ฌาน  16 นั้น ต้องเปรียบเทียบกับวิสุทธิ  7 ซึ่งจะต้องผ่านสมถกรรมฐานมาก่อน ดังได้กล่าวมาแล้ว และการจะได้ญาณ  16 ค่อนข้างจะยาก แต่หลักสูตรการสอนของพระมหาโชดกนั้น รู้สึกญาณจะได้กันง่ายเหลือเกิน

ง่ายขนาดพวกสายนาม-รูปยังรับไม่ได้เลย ขนาดเป็นสาวกของพระพม่าด้วยกัน

ตรงนี้ขัดกับพระไตรปิฎกอย่างไร?

ในพระไตรปิฎก ถ้าคุณจะบรรลุพระอรหันต์ ต้องผ่านวิชชา  3 แล้วพิจารณาอริสัจ  4  ก่อนจะผ่านวิชชา 3 ก็ต้องผ่านโพธิปักขยธรรมมาก่อน ไม่ใช่เดินไปเดินมา แล้วนึกให้ร่างกายเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ไปเลย

3) พระพม่าและสานุศิษย์ต่างก็โฆษณาชวนเชื่อ การปฏิบัติแบบพอง-ยุบ และแบบนาม-รูป นั้นเป็นสติปัฏฐาน 4 และสติปัฏฐาน 4 เป็นวิปัสสนา

ตรงนี้ขัดกับวิสุทธิมรรคอย่างไร?

พระพุทธโฆษาจารย์ไม่ได้จัดสติปัฏฐาน  4  เป็นวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานมี  6  หัวข้อหลัก คือ ขันธ์  5 อายตนะ  12 ธาตุ  18 อินทรีย์  22 อริยสัจ  4 และปฏิจสมุปบาท  12

สติปัฏฐาน 4 เมื่อพิจารณาจากคำศัพท์แล้ว เป็นเพียงอนุปัสนาเท่านั้น

ตรงนี้ขัดกับพระไตรปิฎกอย่างไร?

ตรงนี้ขอยกตัวอย่าง ผลแห่งการเจริญสติปัฏฐานอีกครั้งหนึ่ง แบบย่อๆ ดังนี้

[151] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ ตลอด 7 ปี เขาพึงหวังผล 2 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีขันธบัญจกเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี

จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงเน้นว่า การเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ คำว่า "นี้ อย่างนี้" สำคัญมาก ขอให้ไปอ่านบันทึกในบล็อกเดียวกันนี้ จะเข้าใจมากยิ่งขึ้น

"นี้อย่างนี้" ต้องหมายถึง สติปัฏฐาน  4 ที่พระองค์กำลังสอนอยู่นั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน  4  แบบอื่นๆ

ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติธรรมที่พระมหาสีสะยาดอว์คิดขึ้นมาได้ใหม่นั้น ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน เพราะ พระมหาสีสะยาดอว์เองท่านก็ยืนยันว่า ท่านคิดขึ้นมาเอง

นอกจากนั้นแล้ว ขอให้พิจารณาคำยืนยันของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่ว่า การปฏิบัติธรรมแบบสายพอง-ยุบ "ถูกต้องร่องรอยของสติปัฏฐานสูตร" หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านใช้คำว่า ถูกต้องร่องรอยนะครับ ไม่ใช่สติปัฏฐาน 4 โดยตรง

แต่เมื่อถึงวิชชาธรรมกาย หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านยืนยันเลยว่า "เป็นวิชชาของพระพุทธเจ้า" นะครับ

4) อนุปัสนา/วิปัสสนา/ตรัสรู้
อนุปัสนา แปลว่า พิจารณาเห็น/ตามเห็น
วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง
ตรัสรู้ แปลว่า รู้แจ้ง

พระพม่าท่านสอนว่า ขณะที่พิจารณาพระไตรลักษณ์นั้น ถ้าเห็นอะไรเป็นผิดหมด ไม่ถูกหมด ต้องพิจารณาเห็นหนอ เห็นหนอ แล้วสิ่งที่เห็นจะหายไป

เห็นได้ชัดเจนว่า การสอนของพระพม่าไม่ตรงกับชื่อเสียแล้ว

ที่สาวกของพระพม่าทำยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สายวิชาธรรมกายเขามีการเห็นเป็นหลักสูตรเลยว่า จะต้องเห็นดวงธรรม จะต้องเห็นกายธรรม

กาย เวทนา จิต ธรรมนั้น ในส่วนละเอียดแล้ว เป็นดวงทั้งหมด

สาวกของพระพม่าก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมแล้ว บอกว่า การเห็นของสายวิชาธรรมกายผิดหมด ไม่รู้ว่าเอาสมองส่วนไหนคิด

การสอนของวิชาธรรมกาย เขาก็สอนถูกตามคำสอนของพระไตรปิฎกแล้ว พระไตรปิฎกบอกให้ตามเห็น สายวิชาธรรมกายก็สอนตามเห็น

พระไตรปิฎกบอกให้เห็นแจ้งสายวิชาธรรมกายก็สอนเห็นแจ้ง พระไตรปิฎกบอกให้รู้แจ้งสายวิชาธรรมกายก็สอนให้รู้แจ้ง

ตนเองไม่ได้เรียนด้วย ไม่ได้ศึกษาด้วย ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับวิชาธรรมกายอย่างลึกซึ้ง ไปวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไร

แล้วถ้าถามว่า สายวิชาธรรมกายมีนิมิตลวงไหม

คำตอบก็คือ มีเหมือนกัน มากด้วย แต่สายวิชาธรรมกายมีวิธีศึกษาได้ว่า ไอ้ที่เห็นอยู่นั้น จริงหรือไม่จริง

หลักการง่ายๆ เบื้องต้นก็คือ ถ้าเห็นผิดไปจากหลักสูตรกำหนดก็เป็นนิมิตลวง อย่างที่ลึกๆ ก็มี แต่ถึงอธิบายไปตอนนี้ คนที่ไม่ได้เรียนก็ไม่เข้าใจอยู่ดี

ผมคงตอบคุณปริญญาได้แค่นี้แหละครับ ลองไปอ่านบันทึกอื่นๆ ในบล็อกนี้ดู ก็น่าจะเข้ามากยิ่งขึ้น

สำหรับหลักฐานอื่นๆ นั้น ไม่สามารถจะค้นให้ได้ เนื่องจากไม่มีเวลา และไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

ตอนนี้อยู่ที่ประเทศไต้หวัน กำลังรอนักศึกษามาสอบพูดภาษาไทยเบื้องต้นอยู่ คำตอบนี้ก็เขียนมาตั้งแต่เช้า พอนักศึกษามาสอบก็ต้องสอบนักศึกษาก่อน

พูดง่ายๆ ก็ตอบมาทั้งวัน ถ้าสงสัยในเรื่องใดๆ อีกก็เชิญครับ แต่เรื่องที่คุณปริญญาถามและผมตอบอยู่นี้ ผมก็ตอบซ้ำๆ แล้ว

เมื่อนำมาตอบใหม่ ผมจึงนึกได้ ตอนตอบคำถามนี้ ผมสอนวิชาภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยผิงตง ประเทศไต้หวัน  นั่งตอบกันเป็นวันๆ.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น